วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พี่แน่นกับต้นปรงแสนรัก

พี่แน่นมีอาชีพทำไร่มันสำปะหลังและเผาถ่านขายเพื่อประทังชีวิต อีกทั้งยังยกที่ดินบริเวณที่ขุดไดโนเสาร์ให้กับทางราชการ เถียงนาของพี่แน่นก็อยู่ใกล้ๆกับหลุมขุดค้นนั้นหล่ะครับ เราเลยได้ รปภ. ชั้นดีซึ่งดูแลกระดูกไดโนเสาร์ให้กับเราทั้งกลางวันและกลางคืน 

นอกจากการขุดสำรวจไดโนเสาร์แล้ว ในฐานะนักธรณีวิทยายังมีงานอีกหนึ่งอย่างที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือการทำลำดับชั้นหิน การทำลำดับชั้นหินมีความสำคัญมากในแง่ของทางธรณีวิทยา เพราะเมื่อเราทำลำดับชั้นหินเสร็จแล้วเราสามารถที่จะบอกได้ว่ากระดูกไดโนเสาร์อยู่ตรงลำดับไหนของชั้นหินที่ทำการศึกษา และยังทำนายต่อไปได้ว่าหินบริเวณด้านหน้าที่เราจะกำลังจะไป ควรจะมีกระดูกไดโนเสาร์อีกหรือไม่ 

ในช่วงเวลาที่ผมได้เดินสำรวจธรณีวิทยาเพื่อทำลำดับชั้นหินร่วมกับพี่อึ่ง พี่อ้อย นู๋หลิง รวมทั้งพี่แน่น(ซึ่งเป็นไกด์) ตลอดข้างทางที่ทำการสำรวจธรณีวิทยา ผมสังเกตเห็นว่ามีต้นปรงป่าซึ่งเป็นพืชโบราณร่วมสมัยกับไดโนเสาร์ ขึ้นอยู่ในบริเวณชั้นกรวดค่อนข้างมาก 

ผมจึงสอบถามพี่แน่นไปว่าบริเวณนี้เป็นป่าชุมชนไหมหรือเป็นที่มีเจ้าของ เพราะผมอยากได้ต้นปรงเอาไปจัดสวนที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงสักต้นสองต้น เนื่องจากต้นปรงญี่ปุ่นมีราคาแพง ต้นสวยๆก็ปาเข้าไปหลายหมื่นบาทแล้ว 
พี่แน่นบอกกับผมว่าเคยมีบริษัทรับจัดสวนมาจ้างแกขุด เขาให้ต้นละห้าร้อยบาทแต่แกไม่ขาย เหตุผลที่พี่แน่นไม่ขายเพราะพี่แน่นกลัวต้นปรงจะหมดไปจากบ้านเกิดเมืองนอนของแก แต่ถ้าผมจะเอาก็เอาไปได้และจะเอากี่ต้นก็ได้ แถมแกจะขุดให้ด้วยซ้ำเพราะผมเอาไปทำประโยชน์ต่อสาธารณะ 

เอาอีกแล้วครับความงามของชีวิต โดนตีแสกหน้าอีกแล้วครับคนบ้านนอกคอกนาได้เรียนหนังสือหนังหาหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่น้ำใจพี่แน่นช่างประเสริฐและสูงกว่าคนใส่สูทผูกไทด์เป็นร้อยเป็นพันเท่า ขอบคุณพี่แน่นมากครับสำหรับต้นปรงและความงดงามของชีวิตที่พี่มีให้กับผม

คนขุดซาก เขียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น